หลักการและแนวทางการดำเนินงาน
             จากวัตถุประสงค์ของ “โครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring” ที่มุ่งพัฒนาครูและบุคลากร
ทางการศึกษาตามสมรรถนะให้เป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพ เน้นพัฒนาวิชาชีพครูโดยอาศัยโรงเรียนทั้งระบบเป็นฐาน และเน้นกระบวนการด้าน Literacy,
Numeracy และ Reasoning Ability เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยคณะศึกษาศาสตร์ในฐานะที่ปรึกษาใน
การดำเนินโครงการของ

  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 1
  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 2
  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4
  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 5
  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 2
  •  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25

             ได้จัดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนตามแนวทางของ
นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (
Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำหรับ
การพัฒนาวิชาชีพครูและพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ริเริ่มนำนวัตกรรมดังกล่าวจากประเทศญี่ปุ่น
มาใช้และพัฒนาในประเทศไทยมากว่า 10 ปี

แนวทางการดำเนินโครงการ
            จากสภาพปัญหาโดยพื้นฐานของชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของไทยที่มีลักษณะเป็นชั้นเรียนที่ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับกระบวนการเรียนรู้หรือ
การคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำนวัตกรรม “วิธีการแบบเปิด (Open Approach)”
มาใช้ในการพัฒนาชั้นเรียน โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนจากการใช้ปัญหาปลายปิดมาเป็นการใช้ปัญหาปลายเปิด (Open-ended Problems) เพื่อสร้างกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Activity) ในชั้นเรียน ทั้งนี้กระบวนการสร้างกิจกรรมทางคณิตศาสตร์นี้ได้ดำเนินการภายใต้
นวัตกรรม “การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study)” ที่เน้นการร่วมมือกันสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ การร่วมมือกันสังเกตชั้นเรียน และการร่วมมือกันสะท้อนผลชั้นเรียน โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ
จากมหาวิทยาลัย     
            เมื่อชั้นเรียนคณิตศาสตร์ถูกเปิดสำหรับกระบวนการแก้ปัญหาที่หลากหลายของนักเรียน จึงเป็นชั้นเรียน ที่สามารถพัฒนาไปสู่ชั้นเรียนที่เน้น
การแก้ปัญหา (Problem Solving Classroom) ได้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับ Center for Research on International
Cooperation in Educational Development (CRICED) ประเทศญี่ปุ่น นำหนังสือเรียนคณิตศาสตร์แนวใหม่ที่เน้นการแก้ปัญหา
มาใช้ในโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อช่วยในการสร้างปัญหาปลายเปิดและพัฒนาชั้นเรียนของโรงเรียนในโครงการฯ ให้เป็นชั้นเรียนที่เน้นการแก้ปัญหา
ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการ เรียนรู้ของครูและนักเรียน เป็นรูปธรรมของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศตาม
พระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542
            นอกจากนี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้นำแนวคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีการติดต่อ สื่อสารกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
แบบที่สามารถโต้ตอบกันได้ในเวลาจริง (Real Time)  มาทำการประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะทาง
ที่ห่างไกลกันของโรงเรียนในโครงการฯ จากทุกเขตพื้นที่การศึกษา จึงทำให้การร่วมมือกันสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ การร่วมมือกันสังเกตชั้นเรียน
และการร่วมมือกันสะท้อนผลชั้นเรียนระหว่างโรงเรียนในโครงการฯ ตามแนวทางของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอ
นับเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมหาวิทยาลัย ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง