การเดินทางไปศึกษาดูงานสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ประเทศญี่ปุ่น
ระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2558

     ศาสตราจารย์ ดร. กนก วงษ์ตระหง่าน อดีตอุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาโครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี, ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อาจารย์ปรีชา เครือวรรณ และผู้บริหารโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 41 ท่าน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2558

     โครงการการอบรมผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ฯ ภายใต้โครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Kanto Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการเห็นทิศทางการบริหารโรงเรียนทั้งแง่มุมด้านวิชาการ และการพัฒนาครูในโรงเรียนเพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาโรงเรียนในระยะยาวต่อไป โดยกิจกรรมที่สำคัญในครั้งนี้ ได้แก่
1) การศึกษาการจัดการศึกษาของเมืองโยโกฮามา โดยศึกษาบริบทชั้นเรียนและการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่โยโกฮามา 2 แห่งได้แก่ Segasaki Elementary school และ Natsushima Elementary School
2) การศึกษาการจัดการศึกษาของโรงเรียนเกี่ยวกับการเกษตร ได้แก่ Kanagawa Prefectural Central Agricultural High School
3) การศึกษาดูงานที่สถาบันพัฒนาวิชาชีพครูที่เมืองโยโกฮามา ได้แก่ National Institute of Special Needs Education (NISE)
4) การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการศึกษาของเมืองโยโกฮามา จาก Prof. Yutaka OHARA, Kanto-Gakuin University

     ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ วิจัยและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถสร้างแนวทางการปฏิบัติในโรงเรียน (School Approach) ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้และการคิดขั้นสูงเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษา (Educational Paradigm Change) ให้ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนเคลื่อนย้ายเข้าสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge Society)