มหาวิทยาลัยขอนแก่นจ่อผุดสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จับมือญี่ปุ่นหนุนนวัตกรรมพัฒนาครูไทยสู่ CLMV

     คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เตรียมก่อสร้างอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียนถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการความ ต้องการด้านการพัฒนาวิชาชีพครูของประเทศไทยจากทุกภูมิภาคเชื่อมโยงกับทิศทาง และความต้องการของกลุ่มประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน

      เพื่อนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล นอกจากนี้ยังถือเป็นอีกพันธกิจหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายในแผนพัฒนาอุดม ศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 11 ปี พ.ศ.2555-2559 ที่เน้นการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคตะวันออกเฉียง เหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง และกรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมสร้างความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาครูแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (National Center for Teacher Development: NCTD) เพื่อรับถ่ายทอดประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการ ศึกษา โดยการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับปฏิรูปชั้นเรียนในระดับโรงเรียน การวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวกับความรู้ของครู การวิจัยเพื่อพัฒนาหนังสือเรียนและสื่อการสอนให้สามารถสนับสนุนกิจกรรมการ เรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาครูในประเทศไทยและประเทศในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMV)

     ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559 เวลา 07.30 น. ณ พื้นที่บริเวณบ่อลูกรัง ข้างสนามฟุตบอลโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ได้มีการจัดพิธียกเสาเอกอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียนที่กำลัง ดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน Prof. Masami Isoda (มาซามิ อิโซดะ) จากมหาวิทยาลัย Tsukuba (ทสึคุบะ) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทางด้านการสอนคณิตศาสตร์ โดยมี คณะผู้บริหาร คณบดี คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากร เข้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล

     ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียนว่า “รากฐานปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย มาจากวิธีคิดเกี่ยวกับชั้นเรียนในแนวทางแบบเดิมที่มีความเข้าใจว่าครูมี หน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโดยที่เน้นผลลัพธ์เท่านั้น ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชั้นเรียน อาทิ การวิจัย การผลิตครู การอบรมพัฒนาครู มุ่งเน้นการสอนให้ครูรู้เนื้อหาจำนวนมากเพื่อไปถ่ายทอดเนื้อหาแก่นักเรียน และการพัฒนาครูแบบเดิมด้วยการอบรมระยะสั้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับ วิธีสอนแบบต่างๆ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องปฏิรูปชั้นเรียนที่เน้นทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ โดยกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนในชั้นเรียนจะต้องสำคัญเท่ากับคำตอบ ที่ถูกต้อง แต่นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่กระทบต่อ รากฐานความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับชั้นเรียน จึงจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาในแนวทางที่ถูกต้อง ศึกษาวิจัยในทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องดำเนินงานในระยะยาวเพื่อวางรากฐานการพัฒนาให้เข้มแข็งและยั่งยืน จากนโยบายมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาและตอบสนองต่อการปฏิรูปการ ศึกษาโดยใช้การวิจัยเป็นพื้นฐาน ประจักษ์ผลสำเร็จมากมาย จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพ ครูอาเซียน โดยแนวทางที่สำคัญในการดำเนินงานของสถาบันฯ คือการทำงานเชื่อมโยงกับทิศทางในระดับนานาชาติ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการพัฒนาวิชาชีพครูที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมา อย่างยาวนานกว่า 15 ปี ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทสึคุบะ โดย Prof. Masami Isoda (มาซามิ อิโซดะ) ผู้ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การสนับสนุนและผลักดันจนกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่จะขยายไปสู่ประเทศ เขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

      ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ กล่าวถึงการดำเนินการของสถาบันฯ ว่า “สถาบันฯ จะเป็นแหล่งรวมทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและ ประเทศในอาเซียนเพื่อทำวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาชีพครู และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาบริการวิชาการให้กับครูและบุคลากรทาง การศึกษาทั้งในประเทศและอาเซียน โดยจะมีการจัดอบรมที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อาทิ กลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มครูใหม่ กลุ่มครูที่มีประสบการณ์ 5 ปี กลุ่มครูที่มีประสบการณ์ 10 ปี และนอกจากการจัดอบรมที่สถาบันฯ ยังมีการนำร่องไปยังโรงเรียนต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรม และการเผยแพร่องค์ความรู้บนเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ซึ่งเป็น นวัตกรรมแรกของประเทศไทยด้านการพัฒนาวิชาชีพครู โดยผลิตพัฒนาและจำหน่ายสื่อการสอนและทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ ที่ได้จากการวิจัยให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครูซึ่งแตกต่างจากที่ อื่น เพราะเราพัฒนาวิชาชีพครูโดยใช้นวัตกรรม นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ซึ่งได้รับความนิยมเพราะทำให้นักเรียนสนุก สนานไปกับการเรียนคณิตศาสตร์ โดยถูกนำไปใช้กับทุกโรงเรียนทั่วประเทศกลายเป็นนโยบายของประเทศด้านการ ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน”

     รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย กล่าวถึงความสำเร็จของมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ความสำเร็จจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยส่ง ผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของประเทศไทย โดยในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หมวดการประกันคุณภาพ ได้มีการระบุถึงการประกันคุณภาพตามแบบอย่างของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ ดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนซึ่งไม่ใช่การประกันคุณภาพโดยการประเมินและตรวจ สอบ แต่เป็นการเข้าไปพัฒนาคุณภาพในชั้นเรียน และคำว่า “หลักสูตรสถานศึกษา” ไม่ใช่การทำเล่มหลักสูตรสถานศึกษา แต่หมายถึงการจัดการเรียนการสอนเพื่อคุณภาพ นับเป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผลกระทบเชิงนโยบายของประเทศ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะเล็งเห็นว่าความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เกิดจากการสร้างคนให้มีศักยภาพสูง ถ้าครูมีคุณภาพ นักเรียนก็จะมีคุณภาพ ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็จะได้นักเรียนที่มีคุณภาพด้วย เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ เป็นการยกระดับประเทศด้วยการศึกษา

 แหล่งที่มาของข่าว :
ข่าว/ภาพ : วรวิทย์ สิริภาณุวัฒน์ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะศึกษาศาสตร์ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น