มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ICER 2016 ครั้งที่ 9 และ APEC KhonKaen ครั้งที่ 11

 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ICER 2016 ครั้งที่ 9 และAPEC KhonKaen ครั้งที่ 11
มุ่งท้าทายแนวคิดทางการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพพลเมือง

 ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร

     คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ The Education University of Hong Kong จากฮ่องกง Mindanao State University-Illigan Institute of technology ประเทศฟิลิปปินส์ State University of Sara bay and ประเทศอินโดนีเซีย สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ "International Conference on Education Research (ICER 2016) : Challenging Education for Future Change" ครั้งที่ 9

     และในเวลาเดียวกันนี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ The University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ " APEC KhonKaen International Symposium 2016 : Innovation of Mathematics Education through Lesson Study Challenges to Energy Efficiency on STEM and Cross-border Education" ครั้งที่ 11 โดยมี ผศ. ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร พร้อมด้วย ผศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นักวิชาการไทย และ ชาวต่างชาติจาก 16 ประเทศ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 600 คน ณ ห้องประชุม GL 336 อาคารพจน์ สารสิน เมื่อ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา

     การประชุมวิชาการ ICER 2016 และ APEC KhonKaen International Symposium 2016 ในครั้งนี้มีเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลกอย่างยั่งยืนโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหลัก และเป็นการเฉลิมฉลองการสถาปนาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครบรอบ 48 ปี

     ผศ. ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร กล่าวว่า การเข้าการประชุมวิชาการในครั้งนี้ของนักวิชาการทุกท่าน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสนใจและความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขอขอบพระคุณสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ได้มอบทุนสนับสนุนการจัดงานตลอดจนมหาวิทยาลัยครือข่าย ซึ่งได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้อย่างแข็งขัน ได้แก่ University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น Mindanao State University-Iligan Institute of Technology ฟิลิปปินส์ State University of Surabaya อินโดนีเชีย The Education University of Hong Kong ฮ่องกง

     การประชุมวิชาการ ICER 2016 และ APEC KhonKaen International Symposium 2016 มีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานโดยการนำเสนอปากเปล่า 215 ผลงาน การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 56 ผลงาน เป็นผลงานจากชาวต่างชาติ 168 ผลงาน และมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ปาฐกถา 7 ท่าน (Keynote Speaker) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แนวความคิดที่ท้าทายทางการศึกษาสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

      ในการนี้ ผศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ 1 ใน 7 องค์ปาฐก ได้เปิดเผยว่า ทักษะ กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นสิ่งสำคัญมากของพลเมืองโลกในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูต้องปรับวัฒนธรรมการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกัน เพื่อสังเกตว่าเด็กคิดอย่างไร และนำมาวางแผนการสอน

     “กระบวนการสอนให้เด็กคิด เป็นวิธีการสอนที่บางครั้งผู้สอนก็ไม่รู้ว่าจะสอนเด็กอย่างไร ซึ่งจากการที่ผมไปศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นกว่า 10 ปี พบว่าการสอนให้เด็กคิดเป็นนั้นต้องใช้นวัตกรรมร่วมด้วย ซึ่งก็คือ ครูต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน ต้องมีการคาดการณ์แนวคิดของนักเรียนร่วมกัน เพราะการจะสอนให้เด็กคิดนั้น ครูต้องร่วมมือกันสังเกตการคิดของนักเรียนอย่างละเอียดและนำไปวางแผนการสอน ให้สอดคล้องกับเนื้อหา มีการประชุม และนำไปสอนในชั้นเรียนจริง ขณะเดียวกันต้องมีครูสังเกตการณ์คิดของนักเรียนในชั้นเรียนอย่างละเอียด ทำเป็นรายสัปดาห์ เมื่อครบสัปดาห์ก็มาสะท้อนผลการนำไปใช้จริงในห้องเรียน ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการประชุม และการทำงานเชิงวิชาการในลักษณะนี้ด้วย เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่ชัดเจน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าเด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี กล่าว

     ประวัติศาสตร์ APEC-Lesson Study มีการยื่นเสนอโครงการในปี พ.ศ.2548 และเริ่มจัดการประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 โดยแต่ละปีจะจัดประชุมที่ญี่ปุ่น 1 ครั้ง และจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทยอีก 1 ครั้ง จัดต่อเนื่องมาจนถึงปี 2016 ซึ่งถือเป็นปีที่ 11 โดยมีผู้ดูแลโครงการคือ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นและนายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา และ Prof. Dr. Masami Isoda, University of Tsukuba, Japan ในส่วนของการทำ Lesson Study และ Open Approach ครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาใช้โดยปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของชั้นเรียนไทยในปี พ.ศ.2545 ชื่อภาษาไทยที่ใช้คือ การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด

     ทั้งนี้ การประชุมวิชาการ มีการจัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ วันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2559 โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอจำนวน 273 ผลงาน เป็นผลงานจากนักวิชาการและนักศึกษาไทยจำนวน 103 ผลงาน และผลงานจากนักวิชาการชาวต่างชาติจาก 16 ประเทศ จำนวน 170 ผลงาน รูปแบบของการประชุมแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ การบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญชาญด้านการศึกษา และ การนำเสนอผลงานวิจัยของผู้ที่ส่งผลงานให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการประชุม (Proceedings) โดยแยกห้องประชุมย่อยตามประเด็นของการวิจัย นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์การจัดนิทรรศการของสาขาวิชาต่างๆ ของคณะศึกษาศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 ผศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์

 นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

     แหล่งที่มาของข่าว : รวิพร สายแสนทอง กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น