ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในโครงการพัฒนาศักยภาพการทำวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
|
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรียนเชิญคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย คณิตศาสตรศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เป็นวิทยากรรับเชิญและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวโน้มการทำวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษาในศตวรรษ ที่ 21” ให้กับคณาจารย์และ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มากกว่า 250 คน
ในการบรรยายครั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ได้เสนอแนวทางในการวิจัยทางด้านคณิตศาสตรศึกษาให้ตรงตาม ความต้องการของสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 โดยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา (Problem solving process) ของนักเรียนแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมทางการศึกษานั่นคือนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และ วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นพัฒนามากกว่า 140 ปี และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ รวมถึงในวันดังกล่าว อาจารย์ ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ อาจารย์ ดร.วิภาพร สุทธิอัมพร อาจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี และ อาจารย์ ดร.สมควร สีชมภู คณาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอประเด็นการวิจัยทางด้านคณิตศาสตรศึกษาทั้งในด้านการพัฒนาครู นักเรียนและสื่อการเรียนการสอนเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัย สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป นอกจากนี้ในกิจกรรมครั้งนี้ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกได้จัดบูธนิทรรศการเพื่อแนะนำผลงานวิจัยของนักศึกษาสาขาวิชา คณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอกสารและหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศูนย์วิจัย คณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชั้นเรียนคณิตศาสตร์ มีนักศึกษาและคณาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสนใจงานวิจัย หนังสือเรียนคณิตศาสตร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นการสร้างเครือข่าย ระดับมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพศักยภาพด้านวิชาการให้แก่นักศึกษาระดับ บัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ย่างต่อเนื่องและยั่งยืน |