คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือมหาวิทยาลัยในเครือข่าย
เข้าร่วมการประชุม 13th HICE ที่ Hawaii, USA เพื่อสานต่อความร่วมมือกับ University of North Texas, USA
ดำเนินโครงการ “U.S.-Thailand Research Roundtable: Advancing Research Networks in Algebraic Reasoning”
       เมื่อวันที่ 2-10 มกราคม 2558 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ในฐานะหัวหน้าโครงการ “U.S.-Thailand Research Roundtable: Advancing Research Networks in Algebraic Reasoning” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือหลักระหว่าง University of North Texas ในนามประเทศสหรัฐอเมริกา กับ Khon Kaen University ในนามประเทศไทย ได้นำคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ มข. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้ไปนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุม “Thirteenth Annual Hawaii International Conference on Education (HICE 2015)" ที่เมือง Honolulu, Hawaii, USA

      กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากที่ สกว. และ สสวท. มีข้อตกลงร่วมกันให้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและสหรัฐอเมริกาทางด้านคณิตศาสตรศึกษาขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และกำหนดให้มีกิจกรรมวิชาการและวิจัยภายใต้โครงการอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างทีมนักวิจัยจากทั้งสองประเทศ เมื่อเดือน ตุลาคม 2556 ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมอภิปรายถึงประเด็นในการวิจัย คำถามวิจัย กำหนดข้อเสนอโครงการ ตลอดจนแนวคิดเชิงทฤษฎีที่จะวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนพีชคณิตในระดับโรงเรียนเพื่อพัฒนาการให้เหตุผลทางพีชคณิตของนักเรียนตามเป้าหมายของโครงการ

  การประชุมร่วมระหว่าง สกว.,สสวท., มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ University of North Texas ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2556 ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

       นอกจากการประชุมร่วมระหว่างนักวิจัยจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยแล้ว เมื่อเดือน เมษายน 2557 ทีมนักวิจัยของไทยซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละโครงการย่อยจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) การใช้การประเมินระหว่างเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน 2) โมเดลของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ที่ส่งผลกระทบในเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ ) การพัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์ของครูสำหรับการสอนที่ส่งผลต่อการสอน ก็ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในโรงเรียน รวมทั้งประชุมและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่ University of North Texas, USA เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่างกันในโครงการ

การประชุมและสังเกตชั้นเรียนที่ University of North Texas, USA เมื่อวันที่ 20-27 เมษายน 2557

       ผลจากการประชุมร่วมกันในครั้งนั้นทำให้ Assoc. Prof. Dr. Colleen Eddy และ Assoc. Prof. Dr. Trena Wilkerson ทีมนักวิจัยของ University of North Texas, USA ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม APEC & ICER 2014 APEC-Khon Kaen International Symposium 2014 ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2557 เพื่อเรียนรู้การใช้นวัตกรรม Lesson Study ในกลุ่มประเทศเอเปคที่คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดูแลโครงการร่วมกับ University of Tsukuba, Japan มาตั้งแต่ปี 2006 และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแนะนำคู่มือการใช้การประเมินระหว่างเรียน ให้กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครู จำนวน 120 คน

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้คู่มือการประเมิน Assess Today” ระหว่างวันที่ 13-14 กันยายน 2557

      ผลจากการดำเนินกิจกรรมวิจัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี ทำให้วันนี้โครงการวิจัยย่อยทั้ง 3 โครงการมีผลงานวิจัยที่พร้อมสำหรับการนำเสนอในที่ประชุมทางวิชาการ HICE ครั้งที่ 13 ที่เมือง Honolulu, Hawaii, USA ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 1,325 คน จาก 34 ประเทศ โดยทีมนักวิจัยทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกาในนามโครงการ “U.S.-Thailand Research Roundtable” ได้นำเสนอผลงานในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

    1) โครงการวิจัยย่อยเรื่อง “โมเดลของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ที่ส่งผลกระทบในเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ” นำเสนอผลงานในหัวข้อ “Considerations for Implementing Lesson Study-Cross Country Challenges” โดยมีตัวแทนผู้นำเสนอ คือ

  - Prof. Dr. Maitree Inprasitha Faculty of Education, Center for Research in Mathematics Education, Khon Kaen University
  - Dr. Narumol Inprasitha Faculty of Education, Center for Research in Mathematics Education, Khon Kaen University
  - Prof. Trena L. Wilkerson School of Education, Department of Curriculum and Instruction, Baylor University

    2) โครงการวิจัยย่อยเรื่อง “การใช้การประเมินระหว่างเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน” นำเสนอผลงานในหัวข้อ “Translating a Short Cycle Formative Assessment Observation Protocol” โดยมีตัวแทนผู้นำเสนอ คือ
- Prof. Colleen M. Eddy, University of North Texas
- Dr. Wipaporn Suttiamporn , Khon Kaen University

    3) โครงการวิจัยย่อยเรื่อง “การพัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์ของครูสำหรับการสอนที่ส่งผลต่อการสอน” นำเสนอผลงานในหัวข้อ “Choosing Appropriate Measures of Mathematical Knowledge for Teaching (MKT) for Research Studies across International Boundaries” โดยมีตัวแทนผู้นำเสนอ คือ
- Prof. Sarah Smitherman Pratt Department of Teacher Education & Administration, University of North Texas
- Dr.Thanya Kadroon Faculty of Education (Mathematics Education), Suratthani Rajabhat University

      การนำเสนอผลงานในการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากผู้เข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ที่มีการตั้งคำถามและอภิปรายร่วมกันอย่างเข้มข้น นอกจากการนำเสนอผลงานในการประชุม 13th HICE แล้ว ทีมนักวิจัยทั้งจากประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาก็ได้ประชุมร่วมเพื่อวางแผนการทำงานในระยะต่อไปของโครงการซึ่งมีทั้งการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในการประชุมทางวิชาการ EARCOME 7 ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2558 ที่เมือง Cebu, Philippines การประชุม WALS ระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2558 ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

 การประชุมเพื่อหารือและวางแผนการทำงานในระยะต่อไปของโครงการ “US-Thailand Research Roundtable”

      การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้เป็นการเดินทางร่วมกันระหว่างเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการฝ่ายประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการกระจายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านคณิตศาสตรศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยและสร้างความยั่งยืนให้กับเครือข่ายความร่วมมือด้านคณิตศาสตรศึกษา ทำให้มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจำนวนกว่า 10 มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการ “US-Thailand Research Roundtable” ในนามทีมนักวิจัยของประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีก็ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการเดินทางในครั้งนี้สำหรับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายด้วย ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทั้งโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการแก้ปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี