เลขานุการรัฐมนตรี ศธ.ไฟเขียว ม.ขอนแก่น พัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21

     เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นด้วยกับแนวคิดพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 หลังประชุมร่วมเรื่องการผลิตและพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ณ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น

     พันเอกณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องการผลิตและพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 พร้อมเยี่ยมชม ชั้นเรียนโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีแบบเปิด (Open Approach) ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันอังคารที่ 27 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา

     เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการศึกษาของประเทศไทยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ที่ประชุมสามารถสรุปปัญหาทางการศึกษาไทยออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้ การขาดการคิดวิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบ ,ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างระบบการศึกษาและระบบโรงเรียน กับ ระบบผลิตครูของสถาบันผลิต , ปัญหาเกี่ยวกับระบบมาตรฐานวิชาชีพและใบประกอบอนุญาตประกอบวิชาชีพ , ปัญหาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน และปัญหาความไม่เชื่อมโยงระหว่างระบบผลิตครู ระบบพัฒนาครูใหม่ และระบบการพัฒนาครูประจำการ

     พันเอกณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เห็นชอบกับแนวความคิดการผลิตครูและพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวโน้มแบ่งครูตามเขตพื้นที่ แต่ละสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครูได้ต้องดูแลโรงเรียนในเครือข่าย ขับเคลื่อนการศึกษาผ่านรูปแบบนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งครูใหม่ต้องทำงานควบคู่กับครูประจำการแต่ละในเขตพื้นที่

     “ท่านอธิการบดี ท่านคณบดี และคณาจารย์ทุกท่าน ผมรู้สึกดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาในวันนี้ เป็นการพูดคุยที่เป็นประโยชน์ ทำให้ผมได้แนวความคิดใหม่ๆ ได้รู้รายละเอียด วิธีการดำเนินงานและแผนบริหารพัฒนาโรงเรียนที่ดีและชัดเจน เปิดโลกทัศน์ของผมจากที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผมสนใจและจะนำไปเรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบ และหวังว่าจะสำเร็จ สามารถพัฒนาการศึกษาของประเทศได้ต่อไป ”พันเอกณัฐพงษ์ กล่าว

     รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเริ่มจากวิชาด้านคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แล้วขยายผลไปสู่วิชาอื่นๆ การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ จึงสนับสนุนให้กลุ่มวิจัยทางคณิตศาสตร์ ซึ่งนำโดย ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่นั้นและจัดตั้งเป็น “ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา”ในฐานะศูนย์วิจัยเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557 จึงขยายเป็น “สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน” เพื่อเตรียมขยายผลการแก้ปัญหาในระดับประเทศต่อไป ปัจจุบันมีขอบเขตโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาภายใต้โครงการการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์กว่า 120 โรงเรียน ครอบคลุม 20 จังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีก 15 โรงเรียนเครือข่ายในภาคเหนือและภาคใต้

     “มหาวิทยาลัยต้องการพัฒนาการศึกษาในระดับอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันต้องการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนจะดำเนินการล่วงหน้าไปก่อน และหากภาครัฐเล็งเห็นว่ามีประโยชน์ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ขัดข้อง เราสามารถพัฒนาตามกระบวนการและขยายผลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อภาพรวมของประเทศได้อีกทางหนึ่ง”อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

     ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยตีกรอบหน้าที่ของครูให้เน้นไปที่การสอนตามสาขาวิชาที่ขาดความเชื่อมโยงกับชีวิตจริงและการนำไปใช้แต่ลืมคำนึงถึงความสามารถในการแนะแนวทางการศึกษาให้กับเด็ก และความต้องการของเด็ก ครูควรจะเป็นคนที่สอนแนวทางคุณธรรมจริยธรรม ระบบวิธีการคิด การจัดการและการแก้ปัญหาให้กับเด็ก มากกว่าการไปเน้นวิชาเดี่ยววิชาใดวิชาหนึ่ง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องการผลิตครูที่มีกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นคนที่มีความรู้ มีวินัย สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ผ่านนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการคิดสำหรับทศวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า “วิธีการแบบเปิด (Open Approach)” หลักสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ไม่ใช้หลักการบรรยายและท่องจำแบบเดิมแต่ใช้การเรียนที่ก่อแรงบันดาลใจ โดยมี “โจทย์ หรือ สถานการณ์ปัญหา” ที่ส่งเสริมผู้เรียน ให้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนเป็นเพียงผู้สังเกตวิธีการแก้ไขปัญหาของเด็กแทน แล้วจึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนที่นำไปสู่การประมวล สังเคราะห์ สรุป ความรู้ใหม่ร่วมกัน นวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งใน นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนที่ถูกพัฒนาจากศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษาที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศเอเปค กว่า 19 ประเทศ และตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21

     “คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนวัตกรรมดังกล่าวมาช่วยสนับสนุนครูให้สามารถเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพชั้นเรียน ร่วมทำงานระยะยาวกับโรงเรียนกว่า 10 ปี โดยใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียน (Whole School Approach) จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน และสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาในชั้นเรียนซึ่งเป็นหัวใจของการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาได้จริง " ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ กล่าว

     ทั้งนี้ที่ประชุมยังมีแนวความคิดที่จะสร้างความเข้มแข็งของ “การศึกษาในระดับมัธยมต้น” ซึ่งเป็นจุด ส่งต่อนักเรียนระหว่างสายอาชีพ และสายสามัญ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับการเรียนในสายอาชีพ ลดการผูกขาดทางการเรียนต่อสายสามัญเพียงอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรายได้ที่สายอาชีพสามารถสร้างงานสร้างเงินได้เท่ากันกับคนที่เรียนจบปริญญาตรี ส่วนเรื่องการรวมโรงเรียนขยายโอกาสเข้าด้วยกัน นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรครูในโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมาตรฐานของโรงเรียนให้เท่ากันอีกด้วย ทั้งนี้มาตรการการยุบโรงเรียนยังไม่ระบุชัดเจนแต่จะคำนึงถึงประโยชน์และมาตรฐานความรู้ที่เด็กจะได้รับเป็นหลักอย่างแน่นอน

  ข่าว: จิราพร ประทุมชัย , สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน , วรัญญา กิจไพบูลย์พาณิช
  ภาพ : วทัญญู เชื่อมไธสง