โครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงของนักเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2
ร่วมกับ University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น

     การเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการครูโรงเรียนในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงของนักเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2 ร่วมกับ University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 โดยมีกิจกรรมหลักคือ 1. กิจกรรมการบรรยายโดย Prof. Dr. Masami Isoda 2.กิจกรรมการฟังบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนและการสังเกตชั้นเรียนระดับประถมศึกษา 3. กิจกรรมการฟังบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนและสังเกตชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4. กิจกรรมการสะท้อนผลการเรียนรู้

     กิจกรรมการอบรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายจาก Prof. Masami Isoda ผู้เชี่ยวชาญด้าน Lesson Study จาก University of Tsukuba โดยบรรยายเกี่ยวกับการใช้หนังสือเรียนที่เน้นการแก้ปัญหาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ครูต้องนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันตามกระบวนการของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) จากนั้นได้ไปสังเกตชั้นเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยทสึคุบะ (University of Tsukuba) ที่ก่อตั้งมากว่า 140 ปี โดยได้รับความกรุณาจากรองผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เป็นผู้แนะนำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนฯ อาทิเช่น การพัฒนาการสอนของครูโดยครูทำวิจัยและเผยแพร่นวัตกรรมปีละ 2 ครั้ง ถัดจากนั้นเป็นการสังเกตชั้นเรียนคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่สอนโดย อาจารย์ Takao Seiyama และชั้นเรียนคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนโดยอาจารย์ Yoshikazu Yamamoto ซึ่งครูทั้งสองท่านเป็นครูผู้สอนที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและมีการถ่ายทำวีดิโอชั้นเรียนเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก ชั้นเรียนคณิตศาสตร์ทั้งสองชั้นเรียนสังเกตเห็นได้ว่านักเรียนและครูมีความสุขในการเรียนการสอน นักเรียนมีความพยายามในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และเมื่อเสร็จสิ้นการสังเกตชั้นเรียนในช่วงแรกได้มีการสะท้อนผลกิจกรรมและสรุปกิจกรรม โดย Prof. Masami Isoda, University of Tsukuba และ ผศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์

     การสังเกตชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1888 เริ่มด้วยการแนะนำโรงเรียนโดยรองผู้อำนวยการโรงเรียน จากนั้นได้เข้าสังเกตชั้นเรียนในรายวิชาต่างๆ อาทิเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ การเขียนพู่กัน การประดิษฐ์ และคหกรรม เป็นต้น ทุกวิชาที่ได้เข้าสังเกตนั้นเห็นได้ว่าเป็นชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง และในบางรายวิชาได้แฝงเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมและมารยาททางสังคมเข้าไปด้วย จากนั้นเป็นการสะท้อนผลร่วมกันระหว่างครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนและครูที่เข้าร่วมการอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนในเรื่องการเรียนการสอนระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

     กิจกรรมการสะท้อนผลการเรียนรู้ทั้งในมุมมองทางวิชาการและมุมมองด้านวัฒนธรรมในชั้นเรียน วัฒนธรรมในโรงเรียน และวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสะท้อนผลร่วมกันระหว่างทีมที่เข้าร่วมการอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นและทีมนักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณาจารย์เครือข่ายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิเช่น อ.ดร.เจนสมุทร แสงพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ดร.เกษม เปรมประยูร มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.ดร.พิมพลักษณ์ โมรา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อ.ดร.สมศิริ พยัคฆรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ อ.ณัฐวัตร สุดจินดา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์