พิธีเปิดสำนักงานศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
เพื่อการพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประจำประเทศไทย

     คณะศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดให้มีพิธีเปิด สำนักงานศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา CRICED (Center for Research on International Cooperation in Educational Development) มหาวิทยาลัยทสึคุบะ สำนักงานประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2560 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

     โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Prof. Kyosuke Nagata อธิการบดีมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา CRICED (Center for Research on International Cooperation in Educational Development) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน Prof. Masami Isoda ผู้อำนวยการศูนย์ CRICED และ ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้มีเกียรติร่วมภายในงาน โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลงานและการแสดงดนตรีไทยของนักเรียนโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      ตั้งแต่ปี 2546 กว่า 15 ปี ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา และ ศูนย์ CRICED (Center for Research on International Cooperation in Educational Development) มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีความร่วมมือในการนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน หรือที่เรียกว่า Lesson study ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาครูของประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกันเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ โดยการที่ครูคนใดคนหนึ่งในทีมนำแผนไปใช้สอนและเพื่อนครูคนอื่นๆ เข้าสังเกตชั้นเรียนเพื่อนำมาสะท้อนผลการสอนในแต่ละครั้งร่วมกันหลังจากการสอนนั้นแล้ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะนำนวัตกรรม Lesson study มาปรับใช้ในระบบโรงเรียนของไทย การทำงาน การแปลและเรียบเรียงหนังสือเรียนคณิตศาสตร์แบบใหม่ที่เน้นการแก้ปัญหา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญหาปลายเปิด รวมถึงพัฒนานักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่จะสนับสนุนการทำงานในโรงเรียนในมิติใหม่ อีกทั้งปฏิรูปหลักสูตรผลิตครูที่มีค่านิยมหลักที่แตกต่าง ทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ที่มีคุณค่าต่อสังคม เพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ในวิชาชีพครู ให้พร้อมสำหรับการทำงานที่แตกต่างในระบบโรงเรียนเดิม และ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อให้งานวิจัยของศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษาสอดคล้องกับทิศทางของโลกและเสี่ยงต่อความล้มเหลวให้น้อยที่สุด

     ในปี 2552 ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ได้รับมอบหมายจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา นำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ขยายผลในโรงเรียนจำนวน 23 โรงเรียน ซึ่งมีภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 17 โรงเรียน และในภาคเหนืออีกจำนวน 6 โรงเรียน ซึ่งในการดำเนินการระหว่างปี 2552-2556 ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการทำงานนำร่องการขยายผลการใช้นวัตกรรมในโรงเรียนในประเทศไทย ที่หน่วยงานภาครัฐระดับนโยบายมองเห็นความสำคัญ โรงเรียนทั้ง 23 โรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้เข้าร่วมแสดงศักยภาพการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ว่า นวัตกรรมดังกล่าวที่คณะศึกษาศาสตร์ โดยศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ร่วมกับ ศูนย์ CRICED ของ มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนในประเทศไทย และยกระดับคุณภาพชั้นเรียนของประเทศไทยได้จริง ซึ่งใน ปี 2557 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คัดเลือก โครงการพัฒนาการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดเข้าเป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ “โครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” โดยมีชื่อโครงการที่ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษาเข้าไปร่วมรับผิดชอบ ในนาม “โครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” การดำเนินงานในช่วงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีความชัดเจนที่วิธีการที่ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ และ ศูนย์ CRICED ร่วมพัฒนามาโดยตลอดส่งผลกระทบในเชิงนโยบาย จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่าวิธีการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) สามารถเป็นวิธีการในการอบรมครูทั่วประเทศในโครงการคูปองครู ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

     รองศาสตราจารย์ ดร.กิตตชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “วันนี้จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนที่ร่วมทำงานกันมาตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับศตวรรษที่ 21 ได้ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับภูมิภาคด้วย การเปิดสำนักงานศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ที่ประเทศไทย ภายในอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน นอกจากจะแสดงถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยทสึคุบะ แล้วยังแสดงถึงการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในการร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่อไปด้วย”

     สำนักงานศูนย์วิจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา CRICED (Center for Research on International Cooperation in Educational Development) มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารสถาบันวิจยัและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลทางวิชาการและการประสานงานให้แก่นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ที่จะไปศึกษาและวิจัยด้านการศึกษาชั้นเรียน ณ มหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น

 ข่าว : วทัญญู เชื่อมไธสง
ภาพ: วทัญญู เชื่อมไธสง/ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น