กิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาต ครั้งที่ 12 หนุนครูแนะเด็กคิดเองยั่งยืน

มข.เปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งที่12 หนุนครูแนะนำเด็กคิดเองยั่งยืนผ่านนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน
และวิธีการแบบเปิด ครูเผยกังวลระบบการวัดและประเมินผล ชี้วิจัยการศึกษาใช้เวลานาน หาก ศธ.นิ่งจะสำเร็จผลมากขึ้น

     เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับสถาบันยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ สมาคมคณิตศาสตรศึกษา และ ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 12 โดยมี รองศาสตราจารย์ เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่า เป็นประธานเปิดงาน และมีรองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ ทั้งนี้มีครูจากทั่วประเทศร่วมงานกว่าพันคน ณ ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า สำหรับกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ เป็นกิจกรรมย่อยภายใต้กิจกรรมการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ หรือ (Professional Learning Community : PLC) จัดขึ้นทุกปี โดยครั้งนี้เป็นปีที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน(Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด ( Open Approach) สร้างชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครู ผ่านการประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการนวัตกรรมการศึกษา และถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ ทั้งนี้ตนมีข้อกังวลเกี่ยวกับการวิจัยโดยเฉพาะวิจัยด้านการศึกษาต้องใช้ระยะเวลานาน หากนโยบายรัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการมีความนิ่งพอจะทำให้การทำงานของครู และนักวิจัยเป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จผลมากยิ่งขึ้น

  “มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดการชั้นเรียนมากว่า 15 ปี โดยเริ่มต้นเพียง 2 โรงเรียนในปี 2549 เมื่อผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นจึงขยายมาเป็น 24 โรงเรียนในปี 2552 และปัจจุบันมีมากกว่า 100 โรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ โดยสิ่งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น แต่นักเรียนมีความสุขสนุกกับชั้นเรียน และสามารถคิดเป็นด้วยตนเองอย่างยั่งยืน และการประชุมครั้งนี้เปรียบเหมือนการนำนวัตกรรมในรายวิชาต่างๆมาแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนระดับชาติ”

 นางรัชฎาพร สิงคิบุตร ครูโรงเรียนบ้านโนนท่อนวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการแก้ปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเลื่อมล้ำทางสังคม โดยได้อบรมหลักสูตรพัฒนาครูมากกว่า 5 ครั้งแล้ว เมื่อนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดไปปรับใช้กับนักเรียนประถมศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น และมีความสนุกสนใจการเรียนมากขึ้น

  “หลังเข้ารับการอบรมจึงพบว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนคิดเป็นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าสอนให้เด็กคิดตามแบบท่องจำ โดยได้นำมาปรับใช้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราสอนอยู่ พบว่านักเรียนมีความสนใจสนุกกับการเรียนมาก”

 ภายในงานมีครูกว่าพันรับฟังบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ Open Approach Lesson Study PLC ภาคปฏิบัติจริงในโรงเรียน และมีการสาธิตนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน(Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด ( Open Approach) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

แหล่งที่มาข่าว :
ข่าว : จิราพร ประทุมชัย / ภาพ : นายวทัญญู เชื่อมไธสง และ ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา