ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในโครงการพัฒนาศักยภาพการทำวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

    เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรียนเชิญคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย คณิตศาสตรศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เป็นวิทยากรรับเชิญและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวโน้มการทำวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษาในศตวรรษ ที่ 21” ให้กับคณาจารย์และ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มากกว่า 250 คน 

     ในการบรรยายครั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ได้เสนอแนวทางในการวิจัยทางด้านคณิตศาสตรศึกษาให้ตรงตาม ความต้องการของสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 โดยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา (Problem solving process) ของนักเรียนแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมทางการศึกษานั่นคือนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และ วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นพัฒนามากกว่า 140 ปี และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ  

    รวมถึงในวันดังกล่าว อาจารย์ ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ อาจารย์ ดร.วิภาพร สุทธิอัมพร อาจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี และ อาจารย์ ดร.สมควร สีชมภู คณาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอประเด็นการวิจัยทางด้านคณิตศาสตรศึกษาทั้งในด้านการพัฒนาครู นักเรียนและสื่อการเรียนการสอนเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัย สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป    

        นอกจากนี้ในกิจกรรมครั้งนี้ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกได้จัดบูธนิทรรศการเพื่อแนะนำผลงานวิจัยของนักศึกษาสาขาวิชา คณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอกสารและหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศูนย์วิจัย คณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชั้นเรียนคณิตศาสตร์ มีนักศึกษาและคณาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสนใจงานวิจัย หนังสือเรียนคณิตศาสตร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นการสร้างเครือข่าย ระดับมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพศักยภาพด้านวิชาการให้แก่นักศึกษาระดับ บัณฑิตศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์ ย่างต่อเนื่องและยั่งยืน