การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning Classroom Model: BLC)

การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 (The 15th National Open Class) ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning Classroom Model: BLC)

การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 (The 15th National Open Class) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27  มีนาคม พ.ศ. 2565 ในรูปแบบออนไลน์ (Full Online) เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด สมาคมคณิตศาสตรศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์  และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยกิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ประกอบด้วย
1) การเปิดชั้นเรียน โดยครูผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมการสอนจากในประเทศ จำนวน 6 ชั้นเรียน และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อาจารย์ Hiroyuki Abe จาก Hokkaido University of Education Iwamizawa School ประเทศญี่ปุ่น
2) การบรรยายพิเศษ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า Prof. Yutaka OHARA, College of Education, Kanto-Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น และผมเข้าร่วมให้การบรรยายเกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาการคิดขั้นสูง กับ AI
3) การเสวนาและนำเสนองานวิจัยในชั้นเรียน โดยครูที่ใช้นวัตกรรมการการพัฒนาชั้นเรียน
4) การนำเสนอ Best Practice ในด้านต่างๆ โดยผู้อำนวยการโรงเรียน
5) สารคดีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (BLC)
6) การนำเสนอวิจัยในชั้นเรียน โดยครูที่นำการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดไปใช้ในภาคปฏิบัติและพัฒนาให้เป็นการวิจัยในชั้นเรียน
7) นิทรรศการเสมือนจริง ของโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชั้นเรียน และหน่วยงานอื่นๆกว่า 300 โรงเรียน

    รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ หรือ National Open Class ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว วัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้สนใจได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เกี่ยวกับ กระบวนการในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียน โดยการนำเอานวัตกรรม Lesson Study “การศึกษาชั้นเรียน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมร่วมกับโครงการ APEC Lesson Study ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจ มาตลอด 15 ปี เป็นแนวคิดใหม่ที่จะปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาวิธีการสอนด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยั่งยืน โดยมีจุดเน้นคือ 1) การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียน 2) การพัฒนาใช้ห้องเรียนจริง 3) การเรียนรู้ร่วมกันของครูเพื่อทำความเข้าใจนักเรียนและยอมรับแนวคิดของนักเรียน และ 4) การพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา ดังนั้นการเปิดชั้นเรียนจึงถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้มีการสะท้อนและปรับการดำเนินงานให้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อไป ซึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนโดยคุณครูที่ได้นำเอานวัตกรรมดังกล่าวไปพัฒนาในโรงเรียนตัวเอง จากการที่คุณครูในโรงเรียนพยายามช่วยกันทำความเข้าใจนักเรียน ทำงานร่วมกันในชั้นเรียน จนกลายเป็นชั้นเรียนที่เปิดกว้าง มีการศึกษาชั้นเรียนมาร่วมกันในช่วงสิ้นเทอม และนำมาซึ่งการแบ่งปันโดยการเปิดชั้นเรียนของตนเองที่ได้นำไปพัฒนา เพื่อให้เกิดพื้นที่และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาการและวิชาชีพร่วมกันในเวทีระดับชาติในวันนี้
   จากการบุกเบิกนำร่องใช้นวัตกรรมทางด้านการสอนตั้งแต่ปี 2542 จนกระทั่งเข้าสู่ระบบโรงเรียนเต็มรูปแบบในปี 2549 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ 15 ปี มีการขยายผลไปโรงเรียนในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้รวมทั้งภาคกลาง รวมกว่า 300 โรงเรียนประกอบกับการทำวิจัยและพัฒนาทางด้านการสอนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทำให้สามารถสร้างวัฒนธรรมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนที่ตอบโจทย์และสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG4) และส่งเสริมให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการบริการวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม สู่การสร้างคุณค่าร่วม
   การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ มีกำหนดจัดขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Onsite แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 14 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ถูกเลื่อนมาจัดในปี พ.ศ. 2564 และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นรูปแบบ Online เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ทีมผู้จัดได้พยายามปรับเปลี่ยนและนำเอาเทคโนโลยี และ AI มาช่วยสนับสนุน อาทิเช่น การบันทึกเทปจากชั้นเรียนจริง การบรรยายพิเศษผ่านระบบออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ต่างประเทศ การจัดทำนิทรรศการเสมือนจริง หรือเป็น Virtual Exhibition ผลจากการดำเนินงานในปีที่แล้ว ทำให้เห็นว่า แม้ผู้เข้าร่วมจะไม่สามารถเดินทางมารวมตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่เดียวกัน แต่ก็ยังสามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งส่งเสริมให้เห็นว่าเป็นบรรยากาศแบบการเรียนรู้แบบใหม่อย่างยั่งยืน ที่ตอบสนองและเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
   ดังนั้น แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะยังไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมแบบ onsite ได้เช่นเดิม เพื่อให้การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 ปี ในปีพ.ศ. 2565 ดำเนินต่อไป และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทีมผู้จัดได้เตรียมการดำเนินงานภายใต้มาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกำหนดจัดในรูปแบบ Online เต็มรูปแบบอีกครั้ง

   อีกทั้ง รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ National Open Class ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26 - 27  มีนาคม 2565 ในวันนี้

   จากคำกล่าวรายงานของท่านรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ทำให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ด้วยการเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทด้านการผลิตครู พัฒนาคุณภาพการศึกษาจากการศึกษาและวิจัยในชั้นเรียนจริง พัฒนาวิชาชีพครูที่เชื่อมโยงระหว่างระบบผลิตและระบบครูประจำการ เป็นเวลานานมากกว่า 15 ปี ซึ่งส่งผลต่อการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งยังรองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การดำเนินงานส่วนนี้ นับเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ และให้บริการสังคมและชุมชนในทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ การร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศและหน่วยงานในต่างประเทศ นับเป็นการทำงานร่วมกันในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการศึกษา การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาชั้นเรียนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติ 

   การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 ในวันนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญระดับชาติ ที่จะส่งเสริมให้เห็นอีกว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันอุดรมศึกษา เห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) เกี่ยวกับแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ในการพัฒนาครูของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเชื่อมโยงกับ Reskill Upskill Newskill สู่ Lifelong Learning เพื่อดำเนินการพัฒนาครูได้อย่างยั่งยืนและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งในโอกาสการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมเรียนรู้และมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้มากกว่า 100 ปี ในประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมสังเกตชั้นเรียนที่ใช้นวัตกรรม ได้เห็นว่าชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร และเพื่อให้ได้ชั้นเรียนแบบนั้น  ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนในการดำเนินงานอย่างไร ได้เห็นมุมมองในเรื่องของ Best Practice ในด้านต่างๆ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนที่มากประสบการณ์ รวมทั้งในส่วนของสารคดีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (BLC)  ซี่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากองค์ความรู้ที่ทุกท่านจะได้ร่วมเรียนรู้ในวันนี้ จะมีประโยชน์ในการเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะที่จำเป็น (Reskill) และสร้างองค์ความรู้ใหม่ (New skill)

ภาพกิจกรรม